ททท. เชิญชวนประชาชนร่วมเป็นเจ้าบ้านที่ดีต้อนรับรัฐมนตรีท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยว พ.ศ. 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 14 – 20 สิงหาคมนี้ ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
Table of Contents
Toggleครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการท่องเที่ยวใน 21 ประเทศสมาชิกเอเปก การประชุมนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘การท่องเที่ยวเชิงปฏิรูป’ ที่ส่งเสริมการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังเกิดโรคระบาด
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การประชุมเอเปคด้านการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จะแสดงให้เห็นทิศทางการท่องเที่ยวภายหลังวิกฤตโควิด-19 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูมิภาคให้ดีกว่าเดิม อันจะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมด้านการท่องเที่ยว ในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ซึ่งจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเช่นกัน ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวไทยจะเป็นการสะท้อนยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเขตเศรษฐกิจไทย ภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ด้วยการให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การส่งเสริมการกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการ ตลอดจนการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทุกระดับ ทั้งธุรกิจโรงแรม สายการบิน ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้ความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่เน้นความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย และการให้บริการที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ การส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Tourism) ภายใต้นโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยว 5 ประการ คือ การท่องเที่ยวที่ปลอดภัย – สะอาด – รักษ์สิ่งแวดล้อม – เป็นธรรม – และยั่งยืน หรือ Safe – Clean – Green – Fair – Sustainable
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า การจัดประชุมเอเปคถือเป็นเวทีของความร่วมมือที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจะร่วมกันหารือ เรื่องการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจวิชาการ และ การท่องเที่ยว โดยสมาชิกเอเปคมี GDP รวมกันทั้งสิ้นกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท และ มีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก ปีนี้ประเทศไทยกำหนดหัวข้อหลักของการประชุม คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” มีประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อน 3 ประเด็น ได้แก่
1) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน มุ่งหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) E-Commerce เศรษฐกิจดิจิทัล
2) การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในเอเปค โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว มุ่งฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดน อำนวยความสะดวกในการเดินทางระยะยาว รวมถึงการขยายขอบเขตของ APEC Business Traveler Card
3) การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยมีผลลัพธ์ในการจัดทำ Bangkok Goal ด้าน BCG ซึ่งจะเป็นเอกสารสำคัญที่จะได้รับการรับรองในการประชุมระดับผู้นำเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย
ซึ่งการประชุมระดับผู้นำฯ จะย้ำเจตนารมณ์ที่จะผลักดันการฟื้นตัวจากโควิด-19 ที่ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม บรรลุเป้าหมายทางด้านสิ่งแวดล้อม ภูมิอากาศ และการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ สำหรับด้านการท่องเที่ยวจะมีการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีท่องเที่ยวเอเปคและระดับคณะทำงาน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ทีมงานและสื่อมวลชนต่างประเทศ กว่า 300 คน
ซึ่งประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในมิติการท่องเที่ยว ได้แก่ Regenerative Tourism: การท่องเที่ยวฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนและความเป็นอยู่ที่ดีของทุกภาคส่วน โดยจะมีรูปแบบการจัดงานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ใช้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อแสดงความสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสะท้อนแนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) และกระจายรายได้การท่องเที่ยวให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่น
การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะส่งเสริมนโยบายและทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-๑๙ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ได้ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิดได้โดยยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปได้พร้อมกัน
ประเด็นที่ไทยมุ่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมและเป็นผลลัพธ์ในการเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
1. การส่งเสริมการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-๑๙ ที่จะต้องยั่งยืนและสมดุล และเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
2. ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไก APEC Safe Passage Taskforce เพื่อหารือแนวทางที่ส่งเสริมการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย อาทิ การอำนวยความสะดวกอาชีพสำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้ Public Key Infrastructure ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางกว้างขึ้น และ
3. การส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมในเอเปค ด้วยการจัดทำเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำเพื่อเร่งการพัฒนาตามแผนงานของเอเปคไปสู่การเติบโตอย่างเข้มแข็ง ยืดหยุ่น ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุลในยุคหลัง โควิด-๑๙ ตามแนวคิด BCG Economy
เรียนจบคณะผลิตกรรมการเกษตร แต่ได้มาทำงานสาย Account Manager เป็น AM สายจิตนาการ ที่สามารถนำภาพในหัว Create ให้ออกมาเป็นผลงานได้ รอบรู้ทั้งเรื่องงานขาย งานเขียน และการเจรจาต่อรอง ชอบการพูดคุยกับลูกค้า และมีความสุขทุกครั้งเวลาได้ทำงานเยอะๆ
25/2 ถนนนครอินทร์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
ยอมรับทั้งหมด